สิ่งที่ควรปฏิบัติ เพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้งานรถยก รถโฟล์คลิฟท์
“กฎกระทรวง การกำหนดมาตรฐานในการบริหารเเละการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย เเละสภาพเเวดล้อม เกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น เเละหม้อน้ำ พ.ศ.2552”
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 เเละมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฎหมายที่มีบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเเละเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 41 เเละมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้
กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับเเต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
“รถยก” หมายความว่า รถที่ติดตั้งอุปกรณ์ใช้สำหรับการยกหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของ
“การตรวจสอบ” หมายความว่า การตรวจพิจารณาความเรียบร้อยของชิ้นส่วนหรือกลไกการทำงานของเครื่องจักร ปั้นจั่น เเละหม้อน้ำ ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือของผู้ผลิต
“การทดสอบ” หมายความว่า การตรวจสอบเเละทดลองใช้งานชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือกลไกการทำงานของอุปกรณ์เพื่อความถูกต้องโดยวิศวกร
» ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับรถยก นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1. จัดให้มีโครงหลังคาที่มั่นคงเเข็งเเรง สามารถป้องกันอันตรายจากวัสดุตกหล่นได้
2. จัดทำป้ายบอกพิกัดน้ำหนักยกให้ตรงกับความสามารถในการยกสิ่งของได้โดยปลอดภัยติดไว้ที่รถยกเพื่อให้ลูกจ้างเห็นได้ชัดเจน
3. ตรวจสอบรถยกให้มีสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัยก่อนการใช้งานทุกครั้งเเละเก็บผลการตรวจสอบไว้ให้พนักงานตรวจเเรงงานตรวจสอบได้
4. จัดให้มีสัญญาณเสียงหรือเเสงไฟเตือนภัยในขณะทำงานตามความเหมาะสมของการใช้งาน
» ห้ามนายจ้างทำการดัดแปลงหรือกระทำการใดที่มีผลทำให้ความปลอดภัยในการทำงานของรถยกลดลง
» นายจ้างต้องกำหนดเส้นทางเเละตีเส้นช่องทางเดินรถยกในอาคารหรือบริเวณที่มีการใช้รถยกเป็นประจำ
» นายจ้างต้องติดตั้งกระจกนูนหรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายกันไว้ที่บริเวณทางเเยกหรือทางโค้งที่มองไม่เห็นเส้นทางข้างหน้า
» นายจ้างต้องจัดให้พื้นเส้นทางเดินรถยกมีความมั่นคงเเข็งเเรงเละสามารถรองรับน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกของรถยกได้อย่างปลอดภัย
» นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนดทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก
» นายจ้างต้องควบคุมดูเเลมิให้ลูกจ้างนำรถยกไปใช้ปฏิบัติงานใกล้สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีกระเเสไฟฟ้าใกล้กว่าระยะห่างที่ปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานของการไฟฟ้าในท้องถิ่นนั้น กรณีที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าว ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานเเห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
» นายจ้างต้องควบคุมดูเเลมิให้บุคคลอื่นโดยสารไปกับรถยก
» นายจ้างต้องจัดให้มีคู่มือการใช้ การตรวจสอบ เเละการบำรุงรักษารถยกให้ลูกจ้างได้ศึกษาเเละปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน
หลังจากที่เรียนรู้รายละเอียดของกฎกระทรวง การกำหนดมาตรฐานในการบริหารเเละการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย เเละสภาพเเวดล้อม เกี่ยวกับรถยก จะสังเกตว่า ผู้ขับขี่รถยก เป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติงาน จึงได้นำเสนอคุณสมบัติ เเละข้อปฏิบัติของผู้ขับขี่รถยกไว้ในบทความนี้ให้เเก่ผู้อ่าน
หลักสำคัญ 3 ประการที่ต้องปฏิบัติ
- รถยกต้องอยู่ในสภาพที่ดี พร้อมใช้งานและได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
- ผู้ขับขี่รถยกจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ ซึ่งผ่านการฝึกอบรมมีใบอนุญาตขับขี่และได้รับการมอบหมายให้ขับขี่โดยเฉพาะเท่านั้น
- ผู้ขับขี่ต้องมีความตื่นตัวตลอดเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงการเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายกับตนเองและเพื่อนร่วมงาน
ผู้ขับขี่รถยก รถโฟล์คลิฟท์
- ผู้ขับขี่รถยกจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ ซึ่งผ่านการฝึกอบรมมีใบอนุญาตขับขี่โดยเฉพาะเท่านั้น
- ต้องแน่ใจว่ารถยกได้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เหมาะสม
- บรรทุกวัสดุตามพิกัดที่กำหนด
- ก่อนและหลังการยกงาขึ้น/ลง ต้องให้สัญญาณและเตือนผู้อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
- หากมีเหตุขัดข้องระหว่างการทำงาน ห้ามเข้าใต้งา หรือพยายามที่จะทำการซ่อมแซมหรือกระทำการใดๆ ทั้งสิ้น
- ห้ามยืน เดิน หรือทำงานใต้งารถยกที่กำลังทำงาน
ข้อปฏิบัติในการขับรถยก รถโฟล์คลิฟท์
- ก่อนเคลื่อนรถยกออกไป ต้องสำรวจว่าบริเวณใกล้เคียงมีสิ่งกีดขวางหรือไม่
- ตรวจสอบรถยกทุกวันปฏิบัติให้เป็นกิจวัตร หากมีจุดผิดปกติให้รายงานผู้รับผิดชอบ ห้ามใช้รถยกที่มีลักษณะหรือเสี่ยงไม่ปลอดภัย
- ตรวจสอบความเรียบร้อยของแบตเตอรี่ ถังน้ำมันและฝาปิด ก่อนสตาร์ทเครื่อง หรือเริ่มทำงาน
- รีบรายงานอุบัติเหตุ หรือเหตุผิดปกติให้ผู้รับผิดชอบทราบทันทีเพื่อสามารถตรวจสอบสาเหตุได้ทันที
- ติดตั้งกระจกและ/หรือป้ายสัญญาณหยุด ในบริเวณประตู ทางเดิน หรือสถานที่ทำงานที่เป็นจุดอันตราย บีบแตรให้สัญญาณทุกครั้งที่เข้าใกล้บริเวณดังกล่าว
- ตีเส้นสีเหลืองแสดงช่องเดินรถและบริเวณที่ทำงาน
- ควบคุมความเร็วรถให้สามารถที่จะหยุดได้กะทันหัน
- บีบแตรให้สัญญาณและขับรถช้าๆ เมื่อเข้าใกล้ทางเดินประตู ทางเข้า และรถยกคันอื่น
- ระมัดระวังเมื่อเข้าใกล้ทางเดินเท้า หลีกเลี่ยงการขับรถยกเข้าใกล้คนยืนอยู่ริมรั้วหรือริมถนน
- ลดความเร็วลงเมื่อเข้าใกล้บริเวณมุมอับที่จะมองไม่ถนัด เช่น มุมประตู หรือขับรถชิดซ้ายไว้จนกว่าจะแน่ใจ
- ดูกระจกเงาสะท้อนมุมถนน เมื่อถึงบริเวณถนนหักมุมและพร้อมที่จะหยุดหากมีเรื่องกะทันหัน และบีบแตรให้สัญญาณทุกครั้ง
- สอดงาใต้วัสดุที่บรรทุกให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะขับเคลื่อนจะต้องให้วัสดุพิงพนักพิงวัสดุ และกางงาออกให้พอดีกับน้ำหนัก (บรรทุก) วัสดุ
- ขณะรถวิ่งให้ยกวัสดุในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้
- การเคลื่อนรถออกทุกครั้งต้องยกงาสูงกว่าพื้นประมาณ 6 – 8 นิ้ว เสมอ
- ขับรถให้ความเร็วรถพอเหมาะกับสภาพพื้นผิวถนน น้ำหนักบรรทุก และสภาพของบริเวณที่ทำงาน
- ตรวจสอบสิ่งกีดขวางเหนือศรีษะทุกครั้งที่จะขนย้ายวัสดุ
- ต้องคำนึงถึงความสูง ความกว้างของรถเสมอ และระวังคนเดินเท้าโผล่ออกมาจากมุมอับ
- หากวัสดุที่บรรทุกสูงจนมองไม่เห็นทางข้างหน้า ให้ขับรถถอยหลังแทน
- เว้นระยะห่างจากยานพาหนะคันอื่นประมาณ 3 ช่วงคันรถ (นับจากปลายงายกเข้ามา)
- รู้ตำแหน่งของล้อรถยกกับปลายงายกหรือสุดขอบของวัสดุที่จะยกให้ระมัดระวังในขณะกระดกปลายงาก่อนยก
- ปลดเกียร์ว่าง ใส่เบรค ลดงาให้อยู่ในระดับต่ำสุดและดับเครื่องยนต์ทุกครั้งที่จอดหลังใช้งาน
- ห้ามจับพวงมาลัย หรือขับขี่ขณะมือหรือถุงมือเปื้อนน้ำมันหรือลื่น
- ห้ามขนย้ายวัสดุที่จัดตั้งไม่เป็นระเบียบ
- ห้ามใช้ชั้นวางที่ชำรุดในการยก
- ห้ามออกรถเร็ว หยุดกะทันหัน หรือเลี้ยวฉับพลัน โดยเฉพาะในขณะที่กำลังบรรทุกวัสดุ
- ห้ามแซงซึ่งกันและกันในบริเวณที่อันตราย เช่น มุมอับ ทางแยก ฯลฯ
- ห้ามขับรถทับสิ่งของที่ตกอยู่บนพื้น
- ห้ามผู้โดยสารอยู่บนรถ
หากคุณกำลังมองหาหรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับสเปรย์อุตสาหกรรม รถโฟล์คลิฟท์ รถลากพาเลทไฟฟ้า Electric Pallet Tuck ทาง บริษัท นารา เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด มีจำหน่ายพร้อมนำส่งและยินดีให้คำปรึกษา นอกจากนี้เราเป็นผู้จำหน่าย ให้เช่า บริการซ่อมโฟล์คลิฟท์ รถยก Forklift Truck ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ พร้อมรับประกันหลังการซ่อม และจัดหาอะไหล่รถโฟล์คลิฟท์ นำเข้าอะไหล่จากต่างประเทศโดยตรง จำหน่ายในราคาที่เหมาะสม
สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ทาง
บริการของ บริษัท นารา เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด
⇒ รายการอะไหล่แฮนพาเลท (Hand Pallet Truck Parts)
⇒ ปลั๊กแบตเตอรี่ & อุปกรณ์ไฟฟ้า (Battery Plugs Connector & Electrical)
⇒ รายการอะไหล่ (Parts)
⇒ รายการล้อ (Caster Wheels)
⇒ สเปรย์ & จารบี (Spray & Grease)
Post on 2020-02-05